ปวดศอก เทนนิสเอลโบ ( TENNIS ELBOW )

 

ท่ายืดกล้ามเนื้อศอกขวาด้านนอก
ท่ายืดกล้ามเนื้อศอกขวาด้านนอก
www.pkptclinic.com

 “อาการปวดศอกด้านนอก” (Tennis Elbow)… ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

” กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นทางด้านนอกข้อศอก ซึ่งเกิดจากการอักเสบตรงบริเวณที่ยึดเกาะของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกระดกข้อมือ (Extensor muscles group of forearm) สาเหตุเกิดจากการใช้ศอกหรือข้อมือมากเกินไป  เช่น หิ้วของหนักหรือเป็นเวลานาน เล่นกีฬาอย่างหนัก พบได้บ่อยในกีฬาเทนนิส  จนเกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อเอ็นซ้ำๆ อาจมีอาการปวดร้าวบริเวณศอกด้านนอกเมื่อมีการใช้งานกล้ามเนื้อนั้น หรือร้าวถึงข้อมือได้  อาการจะปวดมากขึ้นขณะเคลื่อนไหวข้อมือหรือศอก เช่น การกำมือยกของ บิดผ้า พบบ่อยในกลุ่มนักกีฬาเทนนิส และกลุ่มแม่บ้าน “

 

วิธีการตรวจร่างกายด้วยตนเอง

1.  มีอาการเจ็บหรือปวดบริเวณรอบ ๆ ปุ่มกระดูกข้อศอกด้านนอก หรือบริเวณกล้ามเนื้อข้อศอกจะมีอาการมากขึ้นเมื่อต้องเกร็งกล้ามเนื้อในการกระดกข้อมือ หรือเหยียดนิ้วมือ

2 . มีจุดกดเจ็บบริเวณข้อศอกทางด้านนอก

3.  ผู้ป่วยควํ่ามือและกระดกข้อมือขึ้นต้านแรง ในขณะเหยียดข้อศอก ผู้ป่วยจะเจ็บอย่างมากทางด้านนอกของข้อศอก

Exif_JPEG_PICTURE
ตรวจการอักเสบของกล้ามเนื้อด้วยตนเอง
www.pkptclinic.com

 

การรักษาโดยไม่ผ่าตัด

1.1 การดูแลตนเอง

– ระยะอักเสบรุนแรงให้พักการใช้งานและหมั่นประคบเย็นเพื่อลดอาการปวด และอักเสบ

– กรณีที่อาการปวดเฉพาะที่หรืออาการอักเสบลดลง อาจใช้น้ำอุ่นประคบร่วมกับการยืดกล้ามเนื้อ

 

 1.2  การรักษาทางกายภาพบำบัด  

 นักกายภาพบำบัดจะตรวจร่างกาย เพื่อทราบพยาธิสภาพของการยึดรั้งหรือการอักเสบว่าเกิดบริเวณใด และระยะดำเนินโรคอยู่ระยะเฉียบพลันหรือเรื้อรัง เพื่อวาง

แผนการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม    การรักษาทางกายภาพบำบัดมีหลายวิธี ได้แก่

 

– ใช้ความร้อน-เย็น การใช้คลื่นเสียง (ultrasound ) ในระยะที่มีการอักเสบเฉียบพลัน แนะนำท่าออกกำลังกายเฉพาะ เพื่อให้เหมาะสมกับระยะของโรค

– การใส่อุปกรณ์รัดตรงบริเวณต้นแขน(Tennis elbow cuff) โดยมีจุดประสงค์ให้กล้ามเนื้อที่ใช้ในการกระดกข้อมือทำงานลดลง และลดแรงกระชากของกล้ามเนื้อที่จุดยึดเกาะกับ

กระดูก เป็นการป้องกันไม่ให้มีการบาดเจ็บซํ้า

 

1.3 การรักษาทางยา

– การรับประทานยาเพื่อลดการอักเสบของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น เช่น NSAIDs

– การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าตรงบริเวณจุดยึดเกาะของกล้ามเนื้อซึ่งจะลดการอักเสบ ได้ดี แต่ไม่ควรทำ มากกว่า 3-4  ครั้งต่อปี เพราะอาจทำให้เส้นเอ็นขาด

 

.  การรักษาโดยการผ่าตัด   สำหรับผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพมานานๆ และรักษาโดยไม่ผ่าตัดไม่ได้ผล

 

 

การป้องกัน

 

1.หลีกเลี่ยงการทำงานหนักหรือซ้ำเป็นเวลานานที่ต้องขยับข้อมือขึ้นลงซ้ำๆ กระดกข้อมือแรงๆและกำมือแน่นๆ เช่น การบิดผ้าแรง
2. กรณีที่เป็นนักกีฬาเทนนิส ควรฝึกตี เทนนิสอย่างถูกวิธีตั้งแต่ต้น ออกกำลังกายเสริมกล้ามเนื้อที่ใช้ในการตีเทนนิส ให้อุ่นเครื่องก่อนออกกำลังกายและออกกำลังอย่างไม่หักโหม ออกกำลังกายอย่างเพียงพอไม่หนักเกินไป ถ้ามีการบาดเจ็บให้หยุดพัก อุปกรณ์เทนนิส ควรเลือกขนาดด้ามจับที่เหมาะสม ใช้หน้าไม้ Tennis ขนาดใหญ่ ใช้เอ็นที่ขึงไม่ตึงเกินไป

 

3. ในคนทำงานหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน ใช้แขนมากๆ ควรพักบ่อยๆ เพื่อป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นบาดเจ็บ บริหารด้วยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อเป็นประจำ

 

 

ท่าการบริหารและยืดเหยียดกล้ามเนื้อ

1. ยืดกล้ามเนื้อแขน มือ นิ้วมือ

-โดย ยกแขนระดับไหล่ ใช้มือข้างหนึ่งดันให้ข้อมือกระดกขึ้น-ลง ปลายนิ้วเหยียดตรงค้างไว้ นับ1-10 แล้วปล่อย  ปฏิบัติ 6-10 ครั้ง/เซต

.

ท่ายืดกล้ามเนื้อศอกขวาด้านนอก
ท่ายืดกล้ามเนื้อศอกขวาด้านนอก
www.pkptclinic.com

 

  

2. ยืดเหยียดกล้ามเนื้อที่ใช้กระดกข้อมือขึ้น  ( Extensor muscles of forearm )

– โดยกำมือไปทางด้านหลัง เหยียดศอกตรง ค้างไว้ นับ1-10 แล้วปล่อย ปฏิบัติ 6 -10 ครั้ง/เซต

Exif_JPEG_PICTURE
ท่ายืดกล้ามเนื้อศอกด้านนอก
www.pkptclinic.com

3. บริหารการกำ-แบมือ

         – ฝึกกำแบ เพื่อเพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อนิ้วมือ และกำลังกล้ามเนื้อภายในมือ  หรืออาจถือลูกบอลในฝ่ามือก็ได้

4.บริหารการกระดกข้อมือขึ้น-ลง

– อาจใช้ดัมเบลหรือขวดน้ำเพื่อเป็นน้ำหนัก  ต้นแขนวางข้างลำตัว ข้อศอกตั้งฉาก 90 องศา กระดกข้อมือขึ้น-ลง ค้างไว้ นับ 1-10 แล้วปล่อย ปฏิบัติ 6 -10 ครั้ง/เซต

Exif_JPEG_PICTURE
ท่าเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อศอก
www.pkptclinic.com

5. บริหารกล้ามเนื้อเหยียดนิ้วมือ

 –   โดยวิธีใช้ยางวงคล้องระหว่างนิ้ว พยายามเหยียดนิ้วออกต้านแรงกับยาง

Exif_JPEG_PICTURE
ท่าออกกำลังกายกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเหยียดนิ้ว
www.pkptclinic.com

หมายเหตุ

        หลังการออกกำลังกายควรให้ความรู้สึกสบายที่บริเวณข้อศอก หากมีอาการปวดมากขึ้น ควรปรึกษานักกายภาพบำบัดค่ะ  

  กภ.ทาตยา  รัชตาธิวัฒน์

                                                                                                                                       นักกายภาพบำบัด